ประวัติความเป็นมา

        "วันดินโลก (World Soil Day)" คือ วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันสำคัญที่นักปฐพีวิทยาทั่วโลก 60,000 คน จะเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปี ซึ่งนักปฐพีวิทยาของไทยทุกคนภาคภูมิใจ เนื่องจากวงการปฐพีวิทยานานาชาติ มีฉันทานุมัติเลือกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของ
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันดินโลก และนักปฐพีวิทยาของไทยมีส่วนร่วมในการเชิดชูพระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรดินขององค์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
         การเกิดขึ้นของ "วันดินโลก (World Soil Day)" มีความเกี่ยวข้องกับกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Science : IUSS) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) จึงควรบันทึกจุดเริ่มต้นและความเป็นมาของ "วันดินโลก" เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับทราบอย่างถูกต้อง

แนวความคิดของการจัดตั้งวันดินโลก
        เริ่มต้นจากที่มีการประชุมวิทยาศาสตร์ทางดินของโลก ครั้งที่ 17 ณ กรุงเทพมหานคร ในปี 2545 มีนักวิทยาศาสตร์ทางดินจากทั่วโลกมาร่วมประชุม ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดิน รวมถึงการจัดตั้งโครงการพระราชดำริในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ
        ซึ่งนิทรรศการดังกล่าว ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมประจักษ์ถึงพระวิสัยทัศน์ในการบริหารทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน โดยทรงให้ความสำคัญกับทรัพยากรดิน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระราชหฤทัยในวิทยาศาสตร์ทางดิน และผลสำเร็จจากการบริหารจัดการดินอย่างต่อเนื่องของพระองค์ เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ
        ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือเรื่องการจัดตั้ง "วันดินโลก" โดยที่ประชุมคณะกรรมการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ มีมติให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันดินโลก เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์ โดยใช้วันนี้เป็นวันรณรงค์ให้ชาวโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน ที่มีต่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติและสภาพแวดล้อม และความจำเป็นต้องมีการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน

การขอพระบรมราชานุญาต ให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก
        เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 คณะผู้บริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพรบาททูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม แด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมกราบบังคมทูลเชิญให้ดำรงตำแหน่ง A life membership และยังได้กราบทูลขอพระบรมราชานุญาต ให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลก

การประกาศรับรองวันดินโลก โดยสหประชาชาติ
        องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประกาศสนับสนุนให้มีการจัดตั้งวันดินโลก โดยนำข้อเสนอเข้าบรรจุในวาระการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ประจำปี 2556 ซึ่งสหประชาชาติได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลก และปี 2558 เป็น "ปีดินสากล (International Year of Soils 2015)" ในวันที่ 20 ธันวาคม 2556 ดังนั้น ในวันที่ 5 ธันวาคม 2557 นอกจากเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แล้วนั้น ยังถือว่าเป็นวันดินโลกอย่างเป็นทางการในระดับสากลครั้งแรกอีกด้วย ประเทศไทย โดยกรมพัฒนาที่ดินจึงมีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่พร้อมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

สร้างความตระหนักถึง...ความสำคัญของดิน
         "ดิน" เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่าสำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ในด้านการพัฒนาการเกษตร ดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิง ดินช่วยพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน เอื้อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยดูดซับคาร์บอน และบรรเทาผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มนุษย์ใช้ดินเป็นที่ตั้งของที่อยู่อาศัยและเมือง เป็นที่ทิ้งขยะ เป็นตัวกรองและทำน้ำให้สะอาด

ดินนับวันจะเสื่อมโทรมลง...หากขาดการอนุรักษ์และพัฒนาที่ดินอย่างยั่งยืน
        ความต้องการใช้ทรัพยากรดินมีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ ดินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด และไม่สามารถนำกลับมาทดแทนใหม่ หากมีการเสื่อมสลายไป การใช้ที่ดินผิดประเภท ขาดการอนุรักษ์ และป้องกันปัญหาที่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของดินที่ส่งผลต่อคุณภาพ กำลังผลิตของดิน และกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ ซึ่งหากดินมีความเสื่อมโทรมที่รุนแรงมาก การฟื้นฟูดินให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์เหมือนเดิมจะทำได้ยากขึ้นด้วย
วันดินโลก...วันสำคัญเพื่อการรณรงค์เกี่ยวกับดิน
        สหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น "วันดินโลก" (World Soil Day) เพื่อใช้เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนกิจกรรม การรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ทางด้านดิน และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน ทั้งในระดับประเทศและระดับ โลกต่อมนุษยชาติและสภาพแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

        สหประชาชาติได้ประกาศรับรองให้ ปี 2558 เป็นปีแห่งการรณรงค์ในการสร้างความตื่นรู้ถึงความสำคัญของดิน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหาร เชื้อเพลิง และเส้นใยธรรมชาติ เป็นองค์ประกอบของระบบนิเวศ และเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ รวมถึงการสร้างความตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน ที่นับวันจะทวีความรุนแรงและกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก
         ดังนั้น ตลอดปี 2558 (ค.ศ. 2015) ประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะมีกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องในการให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรดิน ตลอดจนการใช้ การปรับปรุง และการอนุรักษ์อย่างถูกต้อง เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรดินอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ให้ดินเป็นแหล่งสร้างอาหารปลอดภัย ลดปริมาณผู้หิวโหยและขาดอาหาร ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การลดปัญหาความยากจน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การเฉลิมฉลองวันดินโลกในประเทศไทย ครั้งที่ 1
        เมื่อองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มีมติให้วันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันดินโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาที่ดินให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบ         การเฉลิมฉลองวันดินโลกอย่างเป็นทางการครั้งแรก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 5 ธันวาคม 2555 ณ พารากอนฮอล์ 1 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน ในวันที่ 3 ธันวาคม 2555 โดยมีชื่องานว่า "งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม และวันดินโลก 5 ธันวาคม"         การจัดกิจกรรมในงานประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โดยจัดแสดงพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรดิน การอนุรักษ์ดิน และการแก้ไขดินปัญหาต่างๆ เช่น ดินเปรี้ยวจัด ดินตื้นและดินลูกรัง ดินทราย ดินที่ถูกชะล้างพังทลาย การทำเกษตรบนพื้นที่สูง (โครงการหลวง) เกษตรทฤษฎีใหม่ การบรรยายพิเศษถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และการจุดเทียนชัยถวายพระพร
การเฉลิมฉลองวันดินโลกในประเทศไทย ครั้งที่ 2
        การเฉลิมฉลองวันดินโลก ประจำปี 2556 ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ 2 กรมพัฒนาที่ดิน สมาคอมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และภาควิชาปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ร่วมกันจัดงาน ระหว่างวันที่ 3 - 5 ธันวาคม 2556 ณ กรมพัฒนาที่ดิน ในชื่องาน "ด้วยพระบาร มีปฐพีพัฒนา 5 ธันวา วันดินโลก" โดยมี นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธี มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การจัดนิทรรศการจำนวน 7 เรื่อง ได้แก่
1) ในหลวงกับการพัฒนาที่ดิน
2) ดินเพื่อการดำรงชีวิต
3) ดินต้องรู้
4) ดินมีชีวิต
5) ดินกับวิทยาศาสตร์
6) ดินสำหรับคนเมือง
7) ปุ๋ยสำหรับการผลิตพืช
        การประชุมและเสวนาทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิ การออกร้านแสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ การให้บริการ One Stop Service และการแจกจ่ายผลิตภัณฑ์สารเร่งจุลินทรีย์และการจุดเทียนชัยถวายพระพร ในช่วงค่ำของวันที่ 5 ธันวาคม
         1. การประชุมสภาโลกแห่งปฐพีวิทยา (World Congress of Soil Science) ครั้งที่ 17 ที่กรุงเทพฯ วันที่ 14-21 สิงหาคม ปี 2545 ในงานนี้กรมพัฒนาที่ดินมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง "His Magesty the King's Vision, Leadership and Commitment on Sustainable Land Development Activities in Thailand" ซึ่งเป็นที่ประทับใจของนักปฐพีวิทยาจากทั่วโลกที่มาร่วมการประชุม ทำให้สมาชิกของสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Science : IUSS) ทั่วโลก ประจักษ์ถึงพระวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบริหารทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน โดยทรงให้ความสำคัญกับทรัพยากรดิน ทรงเป็นผู้นำและปฏิบัติด้วยพระองค์เอง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขดินปัญหา ที่ประชุมจึงเสนอให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระองค์เป็น "วันดินโลก"
         2. วันที่ 9-15 กรกฎาคม 2549 ในการประชุมดินโลก World Congress of Soil Science ครั้งที่ 18  ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา นายประสาท เกศวพิทักษ์ นายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย นายสมพงษ์ ถีรวงศ์ ที่ปรึกษาสมาคมฯ ศาสตราจารย์ ดร.เอิบ เขียวรื่นรมย์ อุปนายกฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี สุทธิประการ กรรมการสมาคมฯ ได้เดินทางไปร่วมประชุมกรรมการ IUSS และติดตามเรื่องการกำหนดวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก
        3. ปี พ.ศ. 2553 มีการประชุมดินโลก ครั้งที่ 19  ที่เครือรัฐออสเตรเลีย ที่ประชุมกรรมการบริหารสมาพันธ์ฯ พิจารณาญัตติว่าด้วยการถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และมีมติ 3 ประการ คือ มีมติเห็นสมควรขอพระราชทานพระราชวโรกาสทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian Soil Scientist) แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน และกราบบังคมทูลเชิญให้ดำรงตำแหน่ง A Life membership และขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก
        4. ปี 2550-2554 ดร.สันทัด โรจนสุนทร ราชบัณฑิต ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย พยายามดำเนินการ เรื่องถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่วงการปฐพีวิทยานานาชาติยกย่อง และขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก โดยมอบหมายให้ศาสตราจารย์ ดร.เอิบ เขียวรื่นรมณ์ ทำหน้าที่ประงานกับกรรมการบริหาร IUSS ดำเนินการตามมติทั้ง 3 ประการ ศาสตราจารย์ ดร.เอิบ เขียวรื่นรมณ์ ได้ติดต่อประสานงานกับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์ เพื่อดำเนินการต่อ และเป็นผู้คิดชื่อรางวัลนี้ Humanitarian Soil Scientist แล้วนำเสนอให้ราชบัณฑิตแปลเป็นภาษาไทย
        5. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สันทัด โรจนสุนทร ราชบัณฑิต นายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย นำศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สตีเฟน นอร์ดคลิฟฟ์ กรรมการบริหารและอดีตเลขาธิการ IUSS พร้อมคณะผู้บริหาร IUSS เข้าเฝ้า ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian Soil Scientist) เป็นพระองค์แรกของโลก
        6. วันดินโลก (World Soil Day) เกิดขึ้นเนื่องจาก IUSS เห็นว่าการถ่ายทอดความรู้ทางด้านดิน และการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดินต่อมนุษยชาติ และสภาพแวดล้อมให้แก่ประชาชนในประเทศต่าง ๆ ยังไม่เพียงพอ จึงควรมีวันดินโลกเพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมรณรงค์ และเผยแพร่ความรู้เรื่องดินพร้อมกันทั่วโลกได้อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ทั้งนี้ คณะกรรมการ IUSS มีความเห็นพ้องกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นกษัตริย์ที่ให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงทรัพยากรดิน และทรงประสบความสำเร็จในการปรับปรุงแก้ไข และการอนุรักษ์ทรัพยากรดินจนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน จึงมีมติให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็นวันดินโลก ดังนั้น ในวันที่ 16 เมษายน 2555 หลังจากที่ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม" แล้ว ผู้บริหาร IUSS ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก
        7. ธันวาคม 2555 ที่ประชุมสภามนตรี องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประกาศให้มีการจัดตั้งวันดินโลก ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ IUSS เสนอ และ FAO ได้นำเรื่องวันดินโลก เสนอไปยังที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติเพื่อขอการรับรอง
        8. วันที่ 20 ธันวาคม 2556 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญที่ 68 ได้มีมติรับรองให้วันดินโลก (World Soil Day) ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี และให้ปี 2558 เป็นปีดินสากล (International Year of Soil in 2015) มีผลตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป วันดินโลกอยู่ในปฏิทินการปฏิบัติงานขององค์การสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศ จะจัดงานเฉลิมฉลองวันดินโลกโดยทั่วกัน
         ทรงตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของดิน ที่เกิดจากสาเหตุธรรมชาติ เช่น บางแห่งเป็นดินเปรี้ยวจัด ดินเค็ม หรือบางแห่งไม่มีดินเลย จึงทรงเรียกดินเหล่านี้ว่า "ดินแร้นแค้น" พระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ปัญหา ฟื้นฟู อนุรักษ์ดินของพระองค์นั้น มีลักษณะเป็นธรรมชาติและเรียบง่าย ในทางปฏิบัติ เฉียบคมเหมาะเจาะ และชาวบ้านทั่วไปสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยมีหลักการที่สำคัญ คือ ทรงเน้นการพัฒนาที่สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในการพึ่งตนเอง ทรงใช้คำว่า "ระเบิดจากข้างใน" คือทำให้ชุมชนเข้มแข็งก่อนจึงค่อยออกสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำความเจริญรุ่งเรืองจากภายนอกเข้าไปสู่ชุมชนที่ยัง ไม่มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งรับ ขั้นตอนต่อไป คือ พัฒนาให้ประชาชนอยู่ในสังคมได้ตามสภาพและสามารถ "พึ่งตนเองได้" ในที่สุด

พุทธศักราช ๒๕๒๒ ทรงจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นแห่งแรก
         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี "ตัวอย่างของความสำเร็จ" เพื่อให้ประชาชนเข้ามาศึกษาตัวอย่างของจริง และนำกลับไปปฏิบัติได้เอง จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 6 ศูนย์ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดินเสื่อมโทรมและเป็นดินทราย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส มีปัญหาดินเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ที่ประสบปัญหาดินเค็มและดินเสื่อมโทรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวกับการเกษตรมากกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและปรับปรุงดินแทบทั้งสิ้น
         รางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม" (Humanitarian Soil Scientist Award)
        เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์ กรรมการบริหารและอดีตเลขาธิการ สหภาพวิทยาศสาตร์ทางดินนานาชาติ (IUSS) พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian Soil Scientist Award)" เป็นพระองค์แรกของโลก
         รางวัล "International Merit Award" และรางวัล "รากหญ้าแฝกชุบสำริด"
         เมื่อปี พ.ศ. 2536 สมาคมควบคุมการชะล้างพังทลายนานาชาติ (IECA) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล "International Merit Award" สดุดีพระเกียรติคุณในฐานะที่ทรงเป็นนักอนุรักษ์ดินและสภาพแวดล้อม และรางวัล "รากหญ้าแฝกชุบสำริด" จากธนาคารโลก
         เหรียญเทเลฟูด (Telefood Award) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2542 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทูลเกล้าฯ ถวาย "เหรียญเทเลฟูด" เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณ ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร และสร้างความมั่นคงด้านอาหาร
         สืบเนื่องจากพระราชกรณียกิจด้านการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก เป็นที่มาของการได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรมเป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียวของโลก และการประกาศให้วันที่ ๕ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็นวันดินโลก เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อถวายราชสดุดีพระเกียรติคุณ ประเทศไทย ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้จัดตั้งรางวัลวันดินโลก World Soil Day Award ขึ้น โดยหวังให้เกิดการกระตุ้นให้ทั่วโลกมีกิจกรรมด้านการจัดการดินอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร และการขจัดความอดอยากหิวโหย ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ผ่านทางการจัดกิจกรรมเนื่องในวันดินโลกของทุกปี
        ผู้ชนะรางวัลในปี 2018 : องค์กร Practical Action จากบังกลาเทศ
        กิจกรรมโดยเน้นความสำเร็จที่เกิดจากการปฏิบัติ : การจัดกิจกรรม Soil Care Award 2017 Ceremony การจัดสัมมนา การจัดกิจกรรมร่วมกับเกษตรกร การดูงานในพื้นที่ และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ในวงกว้าง ตัวแทนที่มารับรางวัลในปีนี้ คือ
1) Mr. Habibur Rahman (Senior Specialist – Food Security & Nutrition)
2) AZM Nazmul Islam Chowdhury
         ผู้มีสิทธิ์รับรางวัล : ประเทศ องค์กร ชุมชน หรือบุคคล ผู้มีผลงาน ที่ประจักษ์ดีเด่นด้านการส่งเสริมกิจกรรมวันดินโลกและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ การสร้างจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรดินและการจัดการดินเพื่อความมั่นคงอาหารอย่างยั่งยืน
         ประเทศไทย ร่วมกับ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations) ได้ก่อตั้งรางวัลดินโลก เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสืบสานพระราชปณิธานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาทรัพยากรดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำการเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) และการขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs)
         โดยการมอบรางวัลวันดินโลกจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันดินโลกและเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยเริ่มมอบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561
         วัตถุประสงค์ของรางวัล
• เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการดินโลกที่โดดเด่น
• เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรดินและจัดการดินอย่างยั่งยืนด
         คุณสมบัติผู้สมัครเข้าชิงรางวัล
• บุคคล ชุมชน องค์กร หน่วยงาน สถาบันศึกษา หรือประเทศที่มีผลงานและกิจกรรมเป็นที่ประจักษ์ในการส่งเสริม และการสร้างความตระหนักในความสำคัญของทรัพยากรดินและจัดการดินอย่างยั่งยืน
• กิจกรรมที่ส่งเข้าชิงรางวัลต้องเป็นกิจกรรมวันดินโลกที่มีเนื้อหาของงานสอดคล้องกับหัวข้อหลักวันดินโลกที่ FAO กำหนดของปีที่ผ่านมา
         ขั้นตอนการสมัคร
• ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่เว็บไซต์ world-soil-day-award และกรอกรายละเอียดในใบสมัครเป็นภาษาทางการของสหประชาชาติ (อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย จีน หรืออาหรับ)
• ส่งรายละเอียดกิจกรรม พร้อมด้วย รูปถ่าย วีดีทัศน์ หรือเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปให้ฝ่ายเลขา ธิการของสมัชชากลุ่มความร่วมมือทรัพยากรดินโลก (Global Soil Partnership (GSP) secretariat;GSP-Secretariat@fao.org) ภายในวันที่ 30 กันยายน ของทุกปี
         คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสิน
• ประธานกลุ่มสมัชชาดินทั้ง 9 ภูมิภาคทั่วโลก
• ผู้แทนคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ทางดิน (Inter-Governmental Technical Panel on Soils;ITPS)
• ผู้แทนสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (the International Union of Soil Sciences; IUSS)
• ประธานการประชุมสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก (GSP Plenary Assembly)
         ขั้นตอนการเลือกสรร
• สำนักงานเลขาธิการสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลกพิจารณาใบสมัครและรายละเอียดกิจกรรมในเบื้องต้น จากนั้นจะดำเนินการส่งใบสมัครไปยังคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและตัดสิน
• คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินพิจารณาใบสมัครทั้งหมด และประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลในเดือนพฤศจิกายน
• มอบรางวัลวันดินโลกในวันที่ 5 ธันวาคม ที่ประเทศไทย
         รางวัลที่จะได้รับ
• เหรียญรางวัลทองคำ
• เงินรางวัลจำนวน 15,000 เหรียญสหรัฐ
• ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับรางวัลที่ประเทศไทยพร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยน องค์ความรู้และเยี่ยมชมผลการดำเนินงานตามแนวทางพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร