|
 |
 |
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของดิน
ที่เกิดจากสาเหตุธรรมชาติ เช่น บางแห่งเป็นดินเปรี้ยวจัด
ดินเค็ม หรือบางแห่งไม่มีดินเลย จึงทรงเรียกดินเหล่านี้ว่า "ดินแร้นแค้น" พระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ปัญหา
ฟื้นฟู อนุรักษ์ดินของพระองค์นั้น มีลักษณะเป็นธรรมชาติและเรียบง่าย
ในทางปฏิบัติ เฉียบคมเหมาะเจาะ และชาวบ้านทั่วไปสามารถนำไปปฏิบัติได้
โดยมีหลักการที่สำคัญ คือ ทรงเน้นการพัฒนาที่สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในการพึ่งตนเอง
ทรงใช้คำว่า "ระเบิดจากข้างใน" คือทำให้ชุมชนเข้มแข็งก่อนจึงค่อยออกสู่สังคมภายนอก
มิใช่การนำความเจริญรุ่งเรืองจากภายนอกเข้าไปสู่ชุมชนที่ยังไม่มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งรับ
ขั้นตอนต่อไป คือ พัฒนาให้ประชาชนอยู่ในสังคมได้ตามสภาพและสามารถ "พึ่งตนเองได้" ในที่สุด |
|
|
|
 |
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี "ตัวอย่างของความสำเร็จ" เพื่อให้ประชาชนเข้ามาศึกษาตัวอย่างของจริง และนำกลับไปปฏิบัติได้เอง
จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 6 ศูนย์ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดินเสื่อมโทรมและเป็นดินทราย
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส
มีปัญหาดินเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดสกลนคร ที่ประสบปัญหาดินเค็มและดินเสื่อมโทรม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวกับการเกษตรมากกว่า
4,000 โครงการ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและปรับปรุงดินแทบทั้งสิ้น |
|
|
|
|
|
|
|